คนทั่วไปเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า วัดตุมปัง(ร้าง) ซึ่งสมัยก่อนการขุดค้นโดยกรมศิลปากร อย่างเป็นทางการได้มีการสันนิษฐานว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นเทวสถานเนื่องจากมีการพบชิ้นส่วน ของรูปเคารพท่อนล่าง และได้มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระวิษณุ ซึ่งชาวบ้านเล่าว่าสมัยก่อน ได้มีการขุดพบเทวรูปดังกล่าวและยกขึ้นหลังช้างออกจากป่าแต่เกิดพลัดตกลงมาทำให้เทวรูป แยกเป็น 2 ท่อน ชาวบ้านเก็บเฉพาะท่อนบนไปและไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด

                                   

1. ที่ตั้ง

  • ทางรัฐศาสตร์ (การปกครอง)

ตั้งอยู่ในเขต  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวอำเภอท่าศาลาประมาณ 4 กิโลเมตร พิกัดทางภูมิศาสตร์ UTM 47PNK 964556 อ้างอิงจาก แผนที่ทหารมาตราส่วน   1 : 50,000 L7017 ระวาง 4926 II พิมพ์ครั้งที่ 2-RTSD.

1

2

 

2.  สภาพปัจจุบัน

  • สภาพทางภูมิศาสตร์

       ลักษณะภูมิประเทศ แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่ม ในช่วงฤดูฝนอาจจะมีน้ำท่วมขังบริเวณโดยรอบ แต่บริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกลุ่มโบราณสถานมีลักษณะคล้ายคันดินกั้นระหว่างพื้นที่ลุ่มที่อยู่ด้านทิศตะวันออกและพื้นที่ในเขตโบราณสถาน จึงอาจเป็นไปได้ว่ามีการสร้างคันดินขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมโบราณสถานในช่วงฤดูฝน ดังนั้นจึงจะเห็นความแตกต่างของพืชซึ่งตั้งอยู่อยู่นอกแนวคันดิน และพืชทางทิศตะวันตกได้อย่างชัดเจน

p10

  • สภาพแวดล้อมทางกายภาพ

สภาพภูมิสัณฐานในจังหวัดนครศรีธรรมราชในภาพรวมประกอบด้วยพื้นที่ 3 แบบ คือ

ก.พื้นที่สูง คือบริเวณเทือกเขาหลวงซึ่งวางตัวตามแนวแกนทิศ เหนือ-ใต้ ตั้งอยู่ค่อนไปกลางคาบสมุทรภาคใต้ (ทางทิศตะวันตกของจังหวัด) เป็นเทือกเขาหินปูนที่ต่อเนื่องมาจากแนวเทือกเขาทางภาคเหนือ

ข.พื้นที่ราบใกล้ภูเขา/ที่ราบตะกอนแม่น้ำ ตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่เขาหลวงและพื้นที่สันทรายติดทะเล

ค.พื้นที่ราบตะกอนทราย/สันทราย/ที่ราบชายฝั่ง/ชายหาดริมอ่าวไทย ครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่ที่ชายฝั่งทะเลตลอดแนวของจังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ในพื้นที่ราบระหว่างพื้นที่เขาหลวงและพื้นที่สันทรายติดทะเล เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำสมัยไพลสโตซีนและทับถมด้วยตะกอนทะเลในสมัยโฮโลซีนอีกทีหนึ่ง มีอายุระหว่าง 10,000-6,800 ปีมาแล้ว

  • สภาพแวดล้อมทางชีวภาพ

  ก.ป่าไม้ จากการศึกษาสภาพพื้นที่ในเขต อำเภอท่าศาลา จะเห็นลักษณะของป่าพรุซึ่งเกิดใน 2 ช่วง คือ พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเนื่องจากเกิดสันทรายเล็ก ๆ ขึ้นทำให้เกิดการท่วมขังของน้ำเกิดเป็นสังคมพืชของป่าพรุน้ำจืดขึ้นในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง และลึกเข้าไปในแผ่นดินโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก็จะสามารถพบเห็นลักษณะของสังคมพืชแบบป่าพรุได้ในหลายพื้นที่แต่ปัจจุบันพื้นที่หลายแห่งถูกรบกวนไปมากจนไม่เห็นสภาพเดิม แหล่งโบราณสถานตุมปังยังมีพื้นที่หลายแห่งที่แสดงให้เห็นถึงสังคมพืชในป่าพรุ  จากการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับพรรณพืชในแหล่งโบราณคดี ประกอบด้วยพืชหลากหลายชนิด ทั้งพืชยืนต้นที่มีเรือนยอดสูง และพืชล้มลุก ทั้งนี้ได้มีลักษณะผสมของสังคมพืช ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพื้นที่แหล่งเคยมีการถูกรบกวนโดยมนุษย์ซึ่งเข้ามาแผ้วทางป่าเพื่อทำเป็นสวนยางพาราและตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยมาก่อน ทำให้พบได้ทั้งพืชดั้งเดิมที่เป็นพืชในสังคมป่าพรุและพืช ที่อยู่นอกสังคมป่าพรุ บริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จะพบพืชที่มีลักษณะของการเกิดในสภาพพื้นที่พรุคือพืชในลักษณะที่มีรากลอย (หรือรากหายใจ) โดยจะเห็นพืชชนิดนี้ได้ชัดเจน และพบพรรณไม้หลายชนิดที่มักจะพบในสังคมพืชป่าพรุ เช่น หว้าน้ำ กะพ้อ และ เสม็ดขาว เป็นต้น

ข.สัตว์ป่า เนื่องจากก่อนการเข้ามาดำเนินการพื้นที่นี้ได้ถูกกันไว้เป็นพื้นที่สงวนของทางมหาวิทยาลัยทำให้สภาพป่ามีความรกทึบและเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์อยู่มากกว่าบริเวณโดยรอบ ทำให้พบสัตว์ป่าหลายชนิด โดยมากเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกงู กิ้งก่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระจง และหนู เป็นต้น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำพวกกบ เขียด ส่วนสัตว์ปีกที่พบเป็นนกที่มีหลายชนิดมีทั้งนกกินปลาที่เข้ามาหาอาหารในบริเวณใกล้เคียงซึ่งมีทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัย และนกที่พบเห็นได้ตามพื้นถิ่นทั่วไป

  • ผลการสำรวจพรรณไม้ในเขตโบราณสถานตุมปัง

          สภาพของป่าในเขตโบราณสถานตุมปัง ในพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ พบเป็นป่าดิบชื้นที่มีพรรณไม้ขึ้นหนาแน่นซึ่งเกิดจากการแทนที่ป่าพรุที่มีแนวร่องน้ำ 2 สายไหลจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทางทิศเหนือมาบรรจบกับทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของผืนป่า สภาพป่าในพื้นที่นี้เคยเป็นที่ครอบครองของชาวบ้านโดยปลูกบ้านเรือนและพืชสวน ดังนั้นพรรณไม้ที่พบจึงมีทั้งป่าดั้งเดิมที่เป็นไม้หายากและพืชปลูกทั่วไป เช่น ยางพารา พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ขนาดกลางมีความสูงไม่เกิน 10 เมตร กับไม้พุ่มขนาดเล็กความสูง 2-3 เมตร และความสูง 10-15 เมตรในเขตใกล้โบราณสถาน ผลการสำรวจพบพรรณไม้เด่นทั้งสิ้น 185 ชนิด 138 สกุล และ 72 วงศ์ โดยมีพรรณไม้หลายชนิดจัดเป็นไม้หายาก เช่น เขียด (Cinnamomum porrectum ) เทพธาโร (Cinnamomum iners) มะเมื่อย (Gnetum latifolium) ซึ่งเป็นพรรณไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ และมีพรรณไม้ในสกุลที่อาจเป็นชนิดใหม่ของเมืองไทย (มารวย เมฆานวกุล และฉัตรชัย งามเรียบสกุล 2546)

3.  สภาพโดยทั่วไปของโบราณสถาน

          โบราณสถานก่อนการขุดแต่ง   ประกอบด้วยเนินโบราณสถานจำนวน 3 เนิน แต่ละเนินมีคันดินล้อมรอบ มีการใช้คันดินร่วมกัน ดังนั้นรูปร่างของโบราณสถานทั้งหมดจึงตั้งอยู่ในคันดินใหญ่ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน  โบราณสถานวางตัวเกือบจะตามแนวแกนทิศ เหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก สภาพก่อนการขุดแต่งตัวโบราณสถานและบริเวณโดยรอบปกคลุมด้วยพรรณไม้หนาแน่น ทั้งไม้ยืนต้น และไม้ล้มลุกเป็นป่ารกทึบแสงสว่างส่องถึงน้อย  ภายในคันดินประกอบด้วย

เนินโบราณสถานหมายเลข 1 เป็นเนินดินรูปร่างกลมขนาดใหญ่แต่ความสูงไม่มากนัก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15  เมตร  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  สภาพของเนินมีเพียงร่องรอยของกำแพงทางทิศตะวันตกเล็กน้อยและพบแนวอิฐใต้ต้นยางใหญ่ด้านตะวันออกเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเมื่อสอบถามจากชาวบ้านทราบว่าเกิดจากการเรียงโดยชาวบ้านในสมัยหลังเพื่อเป็นฐานประดิษฐานชิ้นส่วนรูปเคารพซึ่งแต่แรกเชื่อว่าเป็นส่วนท่อนล่างของพระนารายณ์  (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช) คันดินล้อมรอบโบราณสถานมีขนาดประมาณ 20 x 20 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร  คันดินทางทิศเหนือใช้ร่วมกับโบราณสถานหมายเลข 2

เนินโบราณสถานหมายเลข 2  มีรูปร่างเป็นเนินดินรูปวงกลมขนาดใหญ่ ค่อนข้างสูง  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  สภาพของเนินมีร่องรอยหลุมลักลอบขุดขนาดใหญ่บริเวณกลางเนิน ทางทิศตะวันออกของเนินพบกองอิฐจำนวนมากกองอยู่ในลักษณะไม่เป็นระเบียบอาจเกิดจากอิฐในหลุมลักลอบขุดภายในเนินโบราณสถานที่ถูกขุดนำมากองไว้ด้านนอก บนยอดมีต้นไม้และจอมปลวกขึ้นปกคลุม  คันดินล้อมรอบมีขนาด 20 x 20 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร  คันดินทางทิศใต้ใช้ร่วมกับโบราณสถานหมายเลข 1 (คันดินทางทิศใต้ของโบราณสถานหมายเลข 2 คือ คันดินทิศเหนือของโบราณสถานหมายเลข 2)

เนินโบราณสถานหมายเลข 3  มีรูปร่างกลม ขนาด 7 x 12  เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นส่วนที่มีเนื้อที่เขตโบราณสถานมากที่สุด ในจำนวน 3 เนิน  สภาพของเนินค่อนข้างสมบูรณ์กว่าทุก ๆ เนินเช่นกัน ลักษณะเป็นเนินดินทรงกลม ไม่มีร่องรอยการขุดรบกวน ด้านบนมีต้นไม่ใหญ่ขึ้นปกคลุม 3 ต้น และจอมปลวกขนาดเล็ก  คันดินล้อมรอบมีขนาด 24 x 37 เมตร กว้างประมาณ 1.5 – 2 เมตร

เนินโบราณสถานหมายเลข 4  อาคารหลังนี้อาจเป็นสิ่งก่อสร้างร่วมสมัยกับโบราณสถานหมายเลข 3 โดยเป็นโบราณสถานที่พบในระหว่างการขุดปรับพื้นที่ เพื่อขุดขยายซุ้มประตูทางเข้าโบราณสถานหมายเลข 1 ภายหลังการขุดแต่ง พบเป็นแนวอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อชนกับกำแพงแก้วทิศตะวันออก ฝั่งตะวันตก ของโบราณสถานหมายเลข 1  ลักษณะเป็นอาคารโปร่งประกอบชุดหลังคาเครื่องไม้ เนื่องจากพบฐานเสาสลักจากหินทราย ฝังอยู่ในแนวอิฐ ภายในอาคารพบแท่นก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสที่อาจใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือใช้ประดิษฐานรูปเคารพ ทางเข้าอาคารได้ก่อเป็นทางขึ้นเล็ก ๆ ด้วยอิฐอยู่ทางทิศตะวันออก

สระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 10×50 เมตร  จำนวน 2 สระ ลึกประมาณ 1.50-2.0 เมตร อยู่ทางทิศตะวันออกนอกคันดินของโบราณสถาน วางตัวตามแนวตะวันออก-ตะวันตก มีคันดินกั้นกลางระหว่างสระน้ำทั้ง 2 สระ ลักษณะเป็นสระดิน ตำแหน่งของสระอยู่ในแนวเดียวกับโบราณสถานหมายเลข 1 สระน้ำทางทิศเหนือ ที่ระยะประมาณ 36 เมตร มีร่องรอยการขุดตัดบริเวณกลางสระ พระภิกษุชื่อ พ่อท่านจิต จากวัดพระอาสน์ อายุ ประมาณ 60-65 พรรษา ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมการขุดแต่งได้บอกว่าท่านได้ให้เครื่องจักรเข้ามาขุดไว้เองเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เพื่อที่จะทำเป็นบ่อน้ำสำหรับสัตว์ป่าในยามหน้าแล้ง