ดูก

ชื่อสมุนไพร
ขันทองพยาบาท
ชื่ออื่น
ดูกใส (อีสาน) ยางปลอก ยายปลวก ฮ่อสะพานควาย (แพร่ น่าน) ขันทองพยาบาท (ภาคกลาง) ดูกหิน (สระบุรี) ข้าวตาก (กาญจนบุรี) มะดูกเลื่อม (เหนือ) ขันทอง (พิษณุโลก) ขุนทอง (ประจวบคีรีขันธ์) กระดูก (ใต้) ป่าช้าหมอง ดูกไทร ขอบนางนั่ง สลอดน้ำ มะดูกดง ข้าวตาก ขนุนดง เจิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Suregada multiflora (A.Juss) Baill.
ชื่อวงศ์
Euphorbiaceae
สรรพคุณ
- ตำรายาไทย ราก รสเมาเบื่อร้อน แก้ลม แก้ประดง แก้พิษในกระดูก แก้โรคผิวหนัง รักษาน้ำเหลืองเสีย เปลือกต้น รสเมาเบื่อ แก้โรคตับพิการ แก้ปอดพิการ แก้ลมเป็นพิษ แก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน รักษามะเร็ง รักษามะเร็งคุด เป็นยาถ่าย เป็นยาระบาย เป็นยาบำรุงเหงือก แก้เหงือกอักเสบ ทำให้เหงือกแข็งแรง ทำให้ฟันทน แก้ประดง ถ่ายน้ำเหลือง แก้พิษในกระดูก ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน คุดทะราด แก้กามโรค เนื้อไม้ รสเมาเบื่อ แก้กามโรค แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ไข้ แก้โรคผิวหนัง แก้มะเร็งคุดทะราด แก้กลากเกลื้อน แก้ลมพิษ แก้ประดงผื่นคัน แก้ประดง แก้พิษในกระดูก ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน แก้ลมและโลหิตเป็นพิษ เนื้อไม้ มีพิษทำให้เมา ใช้เป็นยาเบื่อ ลำต้น ต้มอาบสำหรับหญิงอยู่ไฟ ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แก้ลมเป็นพิษ แก้พิษต่างๆ แก้ลมพิษ แก้พิษในกระดูก แก้โรคประดง แก้โรคผิวหนัง ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้โรคมะเร็ง คุดทะราด แก้กามโรค ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน แก้กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิโรคเรื้อน
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลองของสารสกัด และสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเปลือกลำต้นขันทองพยาบาท โดยใช้เซลล์แมคโครฟาจ RAW264.7ของหนู ซึ่งถูกกระตุ้นการอักเสบด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) จากผลการทดลองพบว่าสารสกัดเฮกเซน และไดคลอโรมีเทนจากเปลือกลำต้นขันทองพยาบาท ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้ง nitric oxide (NO) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 8.6 µg/ml และ สารบริสุทธิ์ที่แยกได้ คือ helioscopinolide A แสดงฤทธิ์ยับยั้ง NO ได้สูงที่สุดที่ค่า IC50 เท่ากับ 9.1 μM ตามด้วย helioscopinolide C และ suremulol D มีค่า IC50 เท่ากับ 24.5 และ 29.3 μM ตามลำดับ สาร helioscopinolide A มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง prostraglandin E2 (PGE2) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 46.3 μM ฤทธิ์ต้านการอักเสบของ helioscopinolide Aเกิดจากกลไกในการยับยั้งการแสดงออกของยีน iNOS และ COX-2 mRNAทำให้การผลิต NO และพรอสตาแกลนดิน ที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบลดลง โดยการออกฤทธิ์ขึ้นกับขนาดของยา (Tewtrakul, et al., 2011)
ฤทธิ์แก้แพ้
แยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดไดคลอโรมีเทนของเปลือกต้นขันทองพยาบาทได้สารไดเทอร์ปีน 7 ชนิด คือ ent-16 -kaurene-3 β,15 β,18-triol, ent -3-oxo-16-kaurene-15 β,18-diol, ent -16-kaurene-3 β,15 β-diol, abbeokutone, helioscopinolide A, helioscopinolide C และ helioscopinolide I นำสารแต่ละชนิดมาทดสอบฤทธิ์แก้แพ้ในหลอดทดลอง โดยดูผลการยับยั้งการปล่อยเอนไซม์ β-hexosaminidase (ในการแพ้แบบ hypersensitivity type I จะมีอาการของโรคเกิดเร็วในเวลาเป็นนาที หรือชั่วโมง ภายหลังได้รับแอนติเจน ซึ่งจะเหนี่ยวนำการสร้างแอนติบอดีชนิด IgE ไปจับกับรีเซฟเตอร์บน mast cell และมีการปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase ร่วมกับ histamine ที่เก็บไว้ใน mast cell ออกมา ส่งผลให้เกิดอาการแพ้)ผลการทดลองพบว่าสารทั้ง 7 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งการปลดปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการแพ้ ของเซลล์ RBL-2H3 โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) ของสารดังกล่าวข้างต้น มีค่าระหว่าง 22.5 – 42.2 ไมโครโมล โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน ketotifen fumarate (IC50 = 47.5 ไมโครโมล) (Cheenpracha, et al., 2006)
ที่มา :
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=206