มะหาด

ชื่อสมุนไพร

มะหาด

ชื่ออื่นๆ

หาด (ทั่วไป) มะหาดใบใหญ่ (ตรัง) หาดขนุน ปวกหาด (เหนือ) ขนุนป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์

Artocarpus lakoocha Roxb.

ชื่อวงศ์

Moraceae

สรรพคุณ

  • ตำรายาไทย ผงจากแก่น โดยนำแก่นไม้ที่อายุ 5 ปีขึ้นไป มาสับแล้วนำไปต้มเคี่ยวกับน้ำ จนเกิดฟอง ช้อนฟองที่ได้รวมกันทำให้แห้ง จะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน นำไปย่างไฟให้เหลือง แล้วนำมาบดเป็นผง เรียกว่า “ผงปวกหาด” มีรสร้อนเมา นำมาชงกับน้ำเย็นรับประทาน เป็นยาขับพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน หรือใช้ละลายน้ำ ทาแก้ผื่นคัน แก่น รสร้อน ขับพยาธิตัวตืด แก้ลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้กษัย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้เบื่ออาหาร แก้ลม ขับโลหิต ละลายเลือด ขับปัสสาวะ แก้ไข้ต่างๆ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ประดงทุกชนิด แก้หอบหืด แก้เสมหะ ราก แก้ไข้ ขับพิษร้อนใน ขับพยาธิ แก้กษัยในเส้นเอ็น เปลือกต้น รสฝาด ใช้เคี้ยวกับหมากแทนสีเสียด เปลือกต้นสด สมาน ทาขับพยาธิ ต้มกินแก้ไข้ ขับพยาธิ ผลสุก รับประทานได้ รสหวานอมเปรี้ยว
  • ประเทศอินเดีย และเนปาลใช้ เปลือกต้น ต้มน้ำทารักษาสิว ประเทศเนปาลใช้ ใบ เป็นอาหารสัตว์ ช่วยเพิ่มการขับน้ำนม

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

  • สารสกัดแก่นมะหาดมีฤทธิ์ขับพยาธิใบไม้ (Haplorchis taichui) ในหลอดทดลอง (ผงปวกหาดจากแก่นมีสารที่ใช้ขับพยาธิคือ oxyresveratrol)
  • สารสกัดแก่นมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ร้อยละ 92 ที่ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (สาร oxyresveratrol มีผลลดความเข้มของเม็ดสีเมลานินในผิวหนังโดยยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสทำให้ผิวขาว)
  • สาร oxyresveratrol ที่แยกได้จากแก่นมีฤทธิ์ปานกลางในการยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสสามชนิดในหลอดทดลองได้แก่ ชื้อ HIV และเชื้อไวรัสเริมทั้งสองชนิดคือ HSV1, HSV2
  • สาร lakoochin A, lakoochin B จากราก มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรค Mycobacterium tuberculosis โดยมีค่า MIC 12.5 และ 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ
  • ใบสดเมื่อใช้เตรียมเป็นสูตรอาหารวัวในปริมาณ 5% ร่วมกับอาหารหลักอื่นๆ พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมวัวได้ร้อยละ 26.8 และมีปริมาณไขมันในน้ำนมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7

ที่มา : 

ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=187