p5 p6

การขุดค้นทางโบราณคดีเป็นพื้นที่กว้างในแหล่งโบราณคดีตุมปังได้พบอาคารสิ่งก่อสร้างทั้งหมด 4 หลัง ซึ่งมีรูปแบบการก่อสร้างที่แตกต่างกันและมีร่องรอยที่ทำให้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการก่อสร้างที่ต่างสมัยกัน นอกจากนั้นสภาพของโบราณสถานที่พบมีความทรุดโทรมและเสื่อมสภาพต่างกันด้วย ซึ่งเกิดจากปัจจัยทั้งทางด้านธรรมชาติ วัสดุที่ใช้ก่อสร้างและการรบกวนของมนุษย์ ทำให้การสันนิษฐานรูปทรงของอาคารบางหลังทำได้ยาก โบราณสถานที่พบมีดังต่อไปนี้

p11

โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นสิ่งก่อสร้างสมัยแรกสุดของแหล่งโบราณคดี รูปแบบอาคารเป็นอาคารก่อด้วยอิฐมีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 3.30 x 3.30 เมตร ภายในมีห้องคูหา ขนาดประมาณ 2.50 x 1.60 เมตร ประกอบด้วยผนัง 3 ด้าน ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นทางเข้า ไม่พบพื้นห้องภายในอาคารซึ่งอาจถูกทำลายจากการลักลอบขุดหาสิ่งมีค่า จากรูปทรงของอาคารมีรูปแบบคล้ายเทวสถานในศาสนาพราหมณ์โดยสามารถเปรียบเทียบได้กับโบราณสถานฐานพระสยมซึ่งตั้งอยู่ในเขต อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช


p13

โบราณสถานหมายเลข 1

 

โบราณวัตถุเด่นที่ได้จากการขุดแต่ง

  1. ชิ้นส่วนกระปุกเคลือบสีน้ำตาลสันนิษฐานว่าผลิตจากเตาในประเทศ
  2. ใบมีดหินมีด้ามจับ
  3. ชิ้นส่วนปูนปั้น
  4. ชิ้นส่วนที่ครอบฐานเสาสลักจากหินทราย
  5. ชิ้นส่วนรูปเคารพสลักจากหินทรายท่อนลำตัวตั้งแต่คอลงมาถึงบั้นเอว
  6. ชิ้นส่วนรูปเคารพสลักจากหินทรายท่อนกร (ซ้าย) ตั้งแต่แขน-มือ
  7. ชิ้นส่วนหินทรายอาจมีความเกี่ยวข้องกับรูปเคารพ

โบราณสถานหมายเลข 2 เป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยที่ 2 ของแหล่ง ผลการขุดค้นไม่พบชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่บอกถึงรูปแบบที่ชัดเจนของอาคารหลังนี้ โดยพบเฉพาะส่วนฐานอาคารที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชั้นฐานของอาคารหลังนี้ปรากฏรูปแบบการก่ออิฐเฉพาะด้านทิศใต้ ประกอบด้วยชั้นฐานเขียง ถัดขึ้นมามีชั้นฐานบัว แต่ส่วนบนจากนี้ไปถล่มลงมาจนหมด อาคารด้านบนมีร่องรอยการลักลอบขุด หลังจากขุดตรวจดูภายในอาคารแล้วไม่พบแนวอิฐด้านใน จึงยังไม่สามารถสันนิษฐานรูปทรงได้แน่ชัด ส่วนอาคารทางทิศเหนือ ไม่เหลือแม้แต่ผนังอาคารส่วนนอก

 

p14
โบราณสถานหมายเลข  2

โบราณวัตถุเด่นที่ได้จากการขุดแต่ง

  1. ชิ้นส่วนอิฐทรงกลมสลักเป็นชั้น ๆ คล้ายส่วนยอดอาคาร สภาพไม่สมบูรณ์
  2. กระปุกเคลือบสีเขียวขนาดเล็ก (Celadon) ภายในบรรจุเถ้ากระดูกและกระดูกเผา

โบราณสถานหมายเลข 3 เป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยสุดท้าย เป็นอาคารก่ออิฐ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในเป็นห้องคูหา ประกอบด้วยผนัง 3 ด้าน ทางทิศตะวันออกเป็นช่องทางเข้า-ออก รูปแบบของอาคารคล้ายเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ฐานอาคารพบค่อนข้างสมบูรณ์ตลอดทั้ง 4 ด้าน พบกองกระเบื้องจำนวนมากบริเวณมุมอาคารทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่เป็นกระเบื้องเรียบ ตัวอาคารมีร่องรอยการทรุดของฐานอาคารที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ส่วนกลางของอาคารมีรอยแยก  ห้องภายในอิฐวางเรียงเป็นพื้น จัดเป็นโบราณสถานที่สมบูรณ์ที่สุดในจำนวน 4 หลัง ที่ส่วนฐานอาคารยังคงปรากฏ ชั้นฐานเขียง ชั้นฐานบัว และผนังอาคารของห้องด้านใน

p15
โบราณสถานหมายเลข  3

โบราณวัตถุเด่นที่ได้จากการขุดแต่ง

  1. กระปุกเคลือบเขียว จากด้านบนอาคาร
  2. กระปุกเคลือบสีน้ำตาลใกล้ฐานอาคารภายในบรรจุเถ้ากระดูก
  3. แวดินเผา สภาพเกือบสมบูรณ์
  4. ชิ้นส่วนเศียรรูปเคารพ อาจจะเป็นเศียรพระโพธิสัตว์พบจากพื้นห้องทางเข้าอาคาร
  5. ชิ้นส่วนห่วงเหล็ก 2 ชิ้น พบใกล้พบเศียรรูปเคารพ

โบราณสถานหมายเลข 4  อาคารหลังนี้อาจเป็นสิ่งก่อสร้างร่วมสมัยกับโบราณสถานหมายเลข 3 โดยเป็นโบราณสถานที่พบในระหว่างการขุดปรับพื้นที่ เพื่อขุดขยายซุ้มประตูทางเข้าโบราณสถานหมายเลข 1 ภายหลังการขุดแต่ง พบเป็นแนวอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อชนกับกำแพงแก้วทิศตะวันออก ฝั่งตะวันตก ของโบราณสถานหมายเลข 1  ลักษณะเป็นอาคารโปร่งประกอบชุดหลังคาเครื่องไม้ เนื่องจากพบฐานเสาสลักจากหินทราย ฝังอยู่ในแนวอิฐ ภายในอาคารพบแท่นก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสที่อาจใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือใช้ประดิษฐานรูปเคารพ ทางเข้าอาคารได้ก่อเป็นทางขึ้นเล็ก ๆ ด้วยอิฐอยู่ทางทิศตะวันออก

 

p16
โบราณสถานหมายเลข 4

โบราณวัตถุเด่นที่ได้จากการขุดแต่ง

  1. ฐานเสาคู่สลักจากหินทราย ฝังอยู่ใต้แนวอิฐ เป็นตัวบ่งบอกว่าอาคารด้านบนเป็นอาคารเครื่องไม้อาจจะมุงด้วยกระเบื้อง
  2. กลุ่มกระเบื้อง พบมากทางทิศใต้ ของอาคารมีทั้งกระเบื้องเรียบ และกระเบื้องกาบู ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์

 

ช่องทางเข้าโบราณสถาน

ช่องทางเข้ามีทั้งหมด 3 ช่องทาง ดังนี้

            1. ช่องทางเข้าโบราณสถานหมายเลข 1 อยู่บริเวณกำแพงแก้วทิศตะวันออกของ โบราณสถานหมายเลข 1  ช่องประตูมีการปูด้วยอิฐเป็นบันไดเตี้ย ๆ ต่อเนื่องมาจากโบราณสถานหมายเลข 4  แนวของช่องประตูตรงกับช่องประตูของอาคารโบราณสถานหมายเลข 1  และช่องทางเข้าสู่เขต โบราณสถานหมายเลข 3,4 ทางทิศตะวันตก ซึ่งตรงกับคันดินที่กั้นกลางระหว่างสระน้ำ 2 สระ

             2. ช่องทางเข้าโบราณสถานหมายเลข 2 อยู่บริเวณกำแพงแก้วทิศตะวันออก ของโบราณสถานหมายเลข 2  รูปแบบทางเข้าก่อด้วยอิฐเป็นซุ้มประตูโดยก่อเป็นซุ้มยื่นออกมา ทั้ง 2 ฝั่งของกำแพงและทำบันไดขั้นเตี้ย 3 ชั้น ด้านข้างของซุ้มที่สร้างยื่นออกมาประดับชั้นฐานด้วยชั้นอิฐบัว  แนวทางเข้าตรงกับอาคารโบราณสถานหมายเลข2

          3. ช่องทางเข้าโบราณสถานหมายเลข 3 และ โบราณสถานหมายเลข 4 ช่องทางเข้าสร้างคล้ายกับช่องทางเข้าโบราณสถานหมายเลข 1 แต่ไม่มีการปูพื้นด้วยอิฐ หรือบันไดอิฐในบริเวณช่องทางเข้า และได้ก่ออิฐด้านข้างช่องทางยื่นออกไปเล็กน้อยทางด้านทิศตะวันออก

 

กำแพงแก้ว

            การขุดแต่งกำแพงแก้ว พบว่าส่วนใหญ่มีสภาพทรุดตัวคือ กำแพงด้านบนถล่มลงมาปิดทับบริเวณส่วนฐานกำแพงไว้เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติและการรบกวนของสัตว์ประเภทปลวกและต้นไม้ใหญ่ ดังนั้นหลังการขุดแต่งครั้งแรกจึงเห็นเพียงกองอิฐซ้อนทับกันอยู่ไม่เป็นระเบียบจึงได้ทำการขุดแต่งเพิ่มเติมโดยรื้อกองอิฐที่ไม่เป็นระเบียบออกจากส่วนที่คาดว่าเป็นฐานกำแพงเพื่อที่จะเปิดให้เห็นส่วนที่เป็นฐานกำแพงแก้วที่ชัดเจนตลอดแนว ทั้งนี้ได้ทำการขุดตรวจชั้นฐานรากของกำแพงแก้วในด้านในและนอกกำแพงทุกด้านของโบราณสถาน แล้วจึงทำการกลบหลุมขุดตรวจด้วยทรายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรุดตัวของฐานรากกำแพง

 

p17
p18

 

จากการขุดแต่งทำให้สันนิษฐานลำดับการสร้างกำแพงได้ว่า การก่อสร้างแรกสุดเป็นกำแพงแก้วรอบ โบราณสถานหมายเลข 1 โดยบริเวณมุมกำแพงพบร่องรอยของการเซาะร่องอิฐคล้ายต้องการทำลวดลายบริเวณมุมกำแพงทุกด้านเป็นรูปเสาประดับอยู่ ซึ่งยังเหลือร่องรอยของร่องเสาประดับอยู่ที่มุมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

การก่อสร้างกำแพงสมัยที่ 2 คือ กำแพงล้อมรอบ โบราณสถานหมายเลข 2 พบว่ามีการก่อต่อเนื่องมาจากกำแพงแก้วรอบ โบราณสถานหมายเลข 1 โดยได้ก่อปิดทับลวดลายเสาประดับมุมกำแพงไปด้วย ทำให้ทราบได้ว่ามีการขยายพื้นที่ศาสนสถานออกไปทางด้านทิศเหนือ

สมัยสุดท้ายคือ กำแพงแก้วรอบ โบราณสถานหมายเลข 3 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากำแพงแก้วรอบ โบราณสถานอีกสองหลังกว่าเท่าตัว โดยกำแพงแก้วเดิมมีความกว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนกำแพงแก้วในสมัยสุดท้ายนี้มีขนาดประมาณ 1.5-2.0 เมตร ทั้งนี้มีร่องรอยของการก่อกำแพงซ้อนหรือเพิ่มขนาดของกำแพงเข้าไปอีกที่บริเวณกำแพงแก้วทิศใต้ของ โบราณสถานหมายเลข 3 ตรงบริเวณรอยต่อที่ต่อกับกำแพงแก้วทิศใต้ของ โบราณสถานหมายเลข 1 โดยบริเวณช่วงกลางของกำแพงจะเห็นแนวกำแพงแก้วเดิมเรียงตัวต่อเนื่องอย่างชัดเจน และกำแพงส่วนที่ก่อเพื่อเพิ่มขนาดของกำแพงซึ่งอยู่ด้านในนั้นเมื่อขุดตรวจฐานรากกลับพบว่าอยู่ลึกลงไปเพียงเล็กน้อยซึ่งตื้นกว่าฐานรากที่เป็นแนวกำแพงเดิม

ภายหลังการขุดแต่งเมื่อทำการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงได้นำทรายมากลบบริเวณฐานรากของทั้งอาคารโบราณสถานและกำแพงแก้วบางส่วนไว้ เพื่อเสริมความมั่นคงเป็นการชั่วคราวก่อนที่จะมีการวางแผนเพื่อสร้างแบบอนุรักษ์โบราณสถานต่อไป

p19