ข่อย

ชื่อสมุนไพร
ข่อย
ชื่ออื่น
กักไม้ฝอย ส้มพอ ส้มพล ส้มฝ่อ ซะโยเส่ สะนาย ตองขะแหน่ ขรอย ขันตา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Streblus asper Lour.
ชื่อวงศ์
Moraceae
สรรพคุณ
- ตำรายาไทย ใช้ กิ่งสด ขนาดเล็กนำมาทุบใช้สีฟัน ทำให้เหงือกและฟันทน
- เปลือกต้น รสเมาฝาดขม นำมาต้มใส่เกลือให้เค็มใช้รักษาโรครำมะนาด แก้โรคฟัน รักษาฟันให้แข็งแรง แก้ปวดฟัน ดับพิษในกระดูกในเส้น แก้พยาธิผิวหนัง เรื้อน มะเร็ง ดับพิษทั้งปวง หุงเป็นน้ำมันทาหัวริดสีดวง ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง
- เปลือกใช้มวนสูบรักษาริดสีดวงจมูก เปลือกต้นต้มกับน้ำใช้ชะล้างบาดแผล และโรคผิวหนัง
- ราก รสเมาฝาดขม ปรุงเป็นยารักษาแผลเรื้อรัง แก้โรคคอตีบ เป็นส่วนผสมในยารักษากระดูก ปวดเส้นประสาทและปวดเอว ฆ่าพยาธิ
- เปลือกราก รสเมาขมบำรุงหัวใจ พบมีสารบำรุงหัวใจ
- ใบ รสเมาเฝื่อน น้ำต้มแก้โรคบิด ใบข่อยคั่วชงน้ำดื่มก่อนมีประจำเดือน สำหรับสตรีที่มักมีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน จะบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ใบคั่วกินแก้โรคไต ขับน้ำนม แก้บิด ใช้ภายนอกแก้โรคริดสีดวงทวาร ตำผสมข้าวสารคั้นเอาน้ำดื่มครึ่งถ้วยชา ทำให้อาเจียนถอนพิษยาเบื่อยาเมา หรืออาหารแสลง ชงกับน้ำร้อนดื่มระบายท้อง แก้ปวดท้องขณะมีประจำเดือน แก้ปวดเมื่อย บำรุงธาตุ ยาระบายอ่อนๆ ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ
- ทั้งต้น ต้มใส่เกลือ แก้ฟันผุ กระพี้ รสเมาฝาดขม แก้พยาธิ แก้มะเร็ง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ผื่นคน เยื่อหุ้มกระพี้ รสเมาฝาดเย็น ขูดเอามาใช้ทำยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก
- ผล รสเมาหวานร้อน บำรุงธาตุ แก้ลม แก้กระษัย ขับลมจุกเสียด เป็นยาอายุวัฒนะ เมล็ด รสเมามันร้อน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุเจริญอาหาร ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้โลหิตและลม ขับลมในลำไส้
- ตำราเภสัชกรรมล้านนา ใช้ ใบ เปลือก ราก และเมล็ด รักษาอาการไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ รักษาเหงือก แก้ปวดฟัน
- ประเทศพม่า ใช้ เปลือกต้นแก้ท้องร่วง แก้ปวดฟัน ช่วยให้ฟันแข็งแรง ต้มน้ำกินแก้ไข้ แก้บิด แก้ท้องเสีย และแก้มะเร็ง เป็นยาอายุวัฒนะ
ที่มา :
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=21