สะค้าน

ชื่อสมุนไพร

สะค้าน (SA KHAN) หรือตะค้านเล็ก (TA KHAN LEK)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Piper ribesioides Wall.

ชื่อวงศ์

Piperaceae

ชื่ออื่นๆ

ตะค้านหยวก (นครราชสีมา)

สรรพคุณ

  • ใบ ขับลมในลำไส้ แก้แน่นจุกเสียด แก้ธาตุพิการ
  • ดอก แก้ลมอัมพฤกษ์
  • ผล แก้ลมในทรวงอก
  • เถา ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด บำรุงธาตุแก้ธาตุพิการบำรุงกำลัง
  • ราก แก้ไข้แก้หืดแก้จุกเสียดรักษาธาตุ
  • ตำรายาไทย เถา รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้แน่น แก้จุกเสียด บำรุงธาตุ ทำให้ผายเรอ และใช้ปรุงยาธาตุ แก้ธาตุพิการ เป็นตัวยาประจำธาตุลม
  • บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้สะค้านในตำรับ “ยาเบญจกูล” มีส่วนประกอบของเถาสะค้านร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

  • ฤทธิ์ลดการอักเสบ
         ศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยให้โดยให้สารสกัดเอทานอลจากลำต้นสะค้าน (Piper interruptum Opiz) ทาที่หูหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague-Dawley ขนาด 1 mg (20 μL) ต่อหูหนู 1 ข้าง ก่อนที่จะกระตุ้นให้หูหนูเกิดการบวมด้วยการทา ethyl-Phenylpropiolate (EPP) ในขนาด 1 mg/20 μL ต่อหูหนู 1 ข้าง จากการทดลองพบว่าสารสกัดจากสะค้านสามารถยับยั้งการบวมของหูหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งใช้ phenylbutazone 1 mg พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการบวมของหูหนูได้ไม่แตกต่างกัน ฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูบวมด้วยการฉีดคาราจีแนน (carrageenan-induced paw edema assay) ผลการทดสอบพบว่าเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 300, 600 และ 1,200 mg/kg เป็นเวลา 1 ชั่วโมงก่อนให้คาราจีแนน สามารถลดการบวมได้ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1, 3 และ 5 (Sireeratawong, et al., 2012)
  • ฤทธิ์ระงับปวด
         ทดสอบฤทธิ์ระงับปวดในหนูถีบจักรเพศผู้สายพันธุ์ ICR โดยแบ่งหนูเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว หนูแต่ละกลุ่มจะได้รับสารสกัดเอทานอลของลำต้นสะค้าน (Piper interruptum Opiz) ในขนาด 300, 600 และ 1,200 mg/kg ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มควบคุมจะได้รับ 5% Tween80 และกลุ่มอ้างอิงจะได้รับ aspirin (300 mg/kg) และ morphine (10 mg/kg) วิธีทดสอบ Formalin Test แบ่งออกเป็น 2 phase คือ ระยะ early phase จะป้อนสารสกัดแก่หนูก่อน หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จึงฉีด 1% formalin, 20 μL เข้าไปในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณเท้าหลังด้านซ้ายของหนู (หากเป็น morphine จะฉีดเข้าช่องท้องหนูเป็นเวลา 30 นาที ก่อนฉีด formalin) บันทึกระยะเวลาที่หนูยกเท้าขึ้นเลีย ภายในเวลา 5 นาที หลังฉีด formalin ระยะ late phase จะฉีด formalin หลังป้อนสารสกัดแล้ว 40 นาที หรือหลังจากฉีด morphine แล้ว 10 นาที บันทึกระยะเวลาที่หนูยกเท้าขึ้นเลีย ภายในเวลา 20-30 นาที หลังฉีด formalin ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดสะค้านทุกขนาด สามารถยับยั้งอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยออกฤทธิ์ต่อระยะ late phase ได้ดีกว่าระยะ early phase เช่นเดียวกับยามาตรฐาน aspirin และ morphine (Sireeratawong, et al., 2012)

ที่มา : 

คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
https://dtam.moph.go.th/images/knowleaga/คมอการปลกสมนไพรทงเลม.pdf