โบราณสถานตุมปัง

Tumpang Archaeological Site

    โบราณสถานตุมปัง ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวัด หรือเทวสถานร้าง จึงเรียกชื่อว่า “วัดตุมปัง” หรือ  “เทวสถานตุมปัง” แตกต่างกันไป แต่เดิมในบริเวณโบราณสถานมีเนินดิน ๓ เนิน บนยอดเนินมีฐาน และท่อนล่างของรูปเคารพตั้งอยู่ชาวบ้านเรียกกันว่าทวดตุมปัง เป็นที่นับถือของชาวบ้านในย่านนี้ คำว่า “ตุมปัง” นั้น เพี้ยนมาจากภาษายาวีว่า “ตุมปัส” ความหมายเดิมคือ ที่อยู่ ที่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการศึกษาทางโบราณคดี ณ โบราณสถานแห่งนี้ ดังนี้ 

    พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๖ สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช ดำเนินการขุดค้น ขุดแต่งทางโบราณคดี พบอาคารโบราณสถานจำนวน ๔ หลัง แนวกำแพงแก้ว ซุ้มประตูทางเข้า สระน้ำ ๒ สระ และโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาคารที่พบมีอิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง บริเวณอาคารโบราณสถานหมายเลข ๑ ได้พบชิ้นส่วนประติมากรรมหินทรายส่วนลำตัว และแขน โดยต่อมาได้ขุดค้นพบส่วนเศียรของประติมากรรมบริเวณอาคารโบราณสถานหมายเลข ๓ ชิ้นส่วนทั้งหมดสามารถต่อกันได้พอดี สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งทำให้ทราบว่าศาสนสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธนิกายมหายาน นอกจากนี้ในการขุดแต่งยังพบเครื่องถ้วยจีนจำนวนหลายชิ้น เช่น ชามเคลือบเขียวสลักด้านนอกเป็นลายกลีบบัว สมัยราชวงศ์ซุ่งตอนใต้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เครื่องถ้วยเคลือบเขียว และกระปุกเคลือบเขียว สมัยราชวงศ์หยวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ คณฑีเคลือบเขียว และสีเหลือง ทำลวดลาย พรรณพฤกษาพิมพ์นูน สมัยราชวงศ์หมิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถ้วยขนาดเล็กเคลือบขาว สมัยราชวงศ์ชิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เป็นต้น 

    พ.ศ. ๒๕๕๑ สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่สระน้ำโบราณในโบราณสถานตุมปัง จำนวน ๓ หลุม โดยผลจากการขุดค้นพบว่าสระน้ำโบราณ ๑ น่าจะมีท้องสระเดิมอยู่ในระดับความลึก ๒๐ เซนติเมตร จากผิวดินในปัจจุบัน และแต่เดิมก่อนการขุดสระอาจมีเนินดินขนาดเล็กอยู่ทางด้านทิศเหนือของสระ ซึ่งต่อมามีการปรับพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้กลายเป็นขอบของสระน้ำไปในที่สุด ส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นคันดินระหว่างสระน้ำทั้งสองน่าจะเกิดจากการขุดดินจากท้องสระทั้งสองมากองไว้เป็นคัน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์เป็นขอบของสระทั้งสอง และอาจใช้เป็นทางเดินสำหรับเข้าออกสู่ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถานด้วย 

    พ.ศ. ๒๕๖๑ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ร่วมกับอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการขุดตรวจโบราณสถานตุมปัง ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อนำตัวอย่างอิฐส่งไปดำเนินการหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence) จากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ภายในประเทศ ผลปรากฏว่าได้ค่าอายุอยู่ในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ หรือ ๑,๓๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว 

โบราณสถานหมายเลข ๑ เป็นสิ่งก่อสร้างสมัยแรกสุดของแหล่งโบราณคดี มีลักษณะเป็นอาคารแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๓.๓๐ x ๓.๓๐ เมตร ภายในมีห้องคูหาขนาดประมาณ ๒.๕๐ x ๑.๖๐ เมตร ประกอบด้วยผนังสามด้าน ส่วนทางด้านตะวันออกเป็นทางเข้า ไม่พบพื้นภายในอาคาร ซึ่งอาจถูกทำลายจากการขุดหาของมีค่า รูปทรงของอาคารนี้คล้ายกันกับอาคารโบราณสถานฐานพระสยม ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครศรธรรมราช โบราณวัตถุที่ขุดพบได้แก่ ชิ้นส่วนรูปเคารพสลักจากหินทรายท่อนลำตัวตั้งแต่คอลงมาถึงบั้นเอว ชิ้นส่วนรูปเคารพสลักจากหินทรายส่วนท่อนพระกรซ้าย ชิ้นส่วนที่ครอบฐานเสา ชิ้นส่วนปูนปั้น ชิ้นส่วนกระปุกเคลือบสีน้ำตาล

สภาพทั่วไปบริเวณโบราณสถานหมายเลข ๑
สภาพทั่วไปบริเวณโบราณสถานหมายเลข ๒

โบราณสถานหมายเลข ๒ เป็นสิ่งก่อสร้างสมัยที่ ๒ เป็นอาคารที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพบเฉพาะส่วนฐานเขียง และชั้นฐานบัว ส่วนบนจากนี้พังลงมาหมด จากการขุดตรวจดูภายในอาคารแล้วไม่พบแนวอิฐด้านใน จึงยังไม่สามารถสันนิษฐานรูปทรงได้แน่ชัด โบราณวัตถุที่พบได้แก่ชิ้นส่วนอิฐทรงกลมสลักเป็นชั้นๆ คล้ายส่วนยอดอาคารสภาพไม่สมบูรณ์ กระปุกเคลือบสีเขียวขนาดเล็ก ภายในบรรจุเถ้ากระดูกและกระดูกเผาไฟ

โบราณสถานหมายเลข ๓ เป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยสุดท้าย เป็นอาคารก่ออิฐแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในห้องคูหาประกอบด้วยผนัง ๓ ด้าน ทางทิศตะวันออกเป็นช่องทางเข้าออก และพบกองกระเบื้องจำนวนมากบริเวณมุมอาคารทิศตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นกระเบื้องเรียบ ตัวอาคารมีร่องรอยการทรุดของฐานอาคารที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ส่วนกลางของอาคารมีรอยแยก ห้องภายในมีอิฐวางเรียงเป็นพื้น โบราณวัตถุที่พบได้แก่ ชิ้นส่วนเศียรรูปเคารพ ชิ้นส่วนห่วงเหล็ก ๒ ชิ้นพบใกล้เศียรรูปเคารพ แวดินเผา กระปุกเคลือบสีน้ำตาลบรรจุเถ้ากระดูก กระปุกเคลือบเขียว

สภาพทั่วไปบริเวณโบราณสถานหมายเลข ๓
สภาพทั่วไปบริเวณโบราณสถานหมายเลข ๔

โบราณสถานหมายเลข ๔ เป็นอาคารร่วมสมัยกับโบราณสถานหมายเลข ๓ ลักษณะเป็นอาคารโถงสันนิษฐานว่าเดิมหลังคาคงมุงเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เนื่องจากพบฐานเสาหินปูนฝังอยู่ในแนวอิฐตามระยะวางเสา และพบกระเบื้องกาบูจำนวนมากบริเวณด้านทิศใต้ของอาคาร ภายในอาคารพบแท่นก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทางเข้าอยู่ด้านทิศตะวันออก

ช่องทางเข้าโบราณสถาน มีทั้งหมด ๓ ช่องทางดังนี้

    ช่องทางเข้าโบราณสถานหมายเลข ๑ อยู่บริเวณกำแพงแก้วทิศตะวันออก ช่องประตูมีการปูอิฐเป็นบันไดเตี้ยๆ ต่อเนื่องมาจากโบราณสถานหมายเลข ๔ แนวของช่องประตูตรงกับช่องประตูของอาคารโบราณสถานหมายเลข ๑ และช่องทางเข้าสู่เขตโบราณสถานหมายเลข ๓, ๔ ซึ่งตรงกับคันดินที่กั้นกลางระหว่างสระน้ำ ๒ สระ 

    ช่องทางเข้าโบราณสถานหมายเลข ๒ อยู่บริเวณกำแพงแก้วทิศตะวันออกของโบราณสถานหมายเลข ๒ รูปแบบทางเข้าก่อด้วยอิฐเป็นซุ้มประตูโดยก่อเป็นซุ้มยื่นออกมาทั้ง ๒ ฝั่งของกำแพงและทำบันไดเตี้ย ๓ ขั้น ด้านข้างของซุ้มที่สร้างขึ้นออกมาประดับชั้นฐานด้วยชั้นอิฐบัว แนวทางเข้าตรงกับอาคารโบราณสถานหมายเลข ๒ 

    ช่องทางเข้าโบราณสถานหมายเลข ๓ และโบราณสถานหมายเลข ๔ ช่องทางเข้าสร้างคล้ายกับช่องทางเข้าโบราณสถานหมายเลข ๑ แต่ไม่มีการปูพื้นด้วยอิฐ หรือบันไดอิฐ ในบริเวณช่องทางเข้า และได้ก่ออิฐด้านข้างช่องทางยื่นออกไปเล็กน้อยทางด้านทิศตะวันออก 

สภาพทั่วไปบริเวณช่องประตูของอาคารโบราณสถานหมายเลข ๑ และช่องทางเข้าสู่เขตโบราณสถานหมายเลข ๓, ๔
ช่องทางเข้าโบราณสถานหมายเลข ๒

กำแพงแก้ว ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพทรุดตัว จากการขุดค้นสันนิษฐานว่ากำแพงแก้วสมัยแรกสุดก็คือแนวกำแพงแก้วที่ล้อมโบราณสถานหมายเลข ๑ ส่วนกำแพงแก้วสมัยที่ ๒ ได้แก่ กำแพงแก้วล้อมโบราณสถานหมายเลข ๒ และสมัยสุดท้ายคือกำแพงแก้วล้อมโบราณสถานหมายเลข ๓ และ ๔

แนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกล้อมโบราณสถานหมายเลข ๓ และ ๔

สระน้ำ ๒ สระ ด้านทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถาน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ ๑๐ x ๕๐ เมตร มีความลึกประมาณ ๑.๕๐ ๒.๐๐ เมตร ตัวสระวางตัวขนานกันทั้งสองสระ ในทิศตะวันออก ตะวันตก โดยมีคันดินกั้นกลางระหว่างสระทั้งสอง สระน้ำแห่งนี้เคยถูกรบกวนมาก่อนเมื่อราว ๔๐ ปีมาแล้วโดยพ่อท่านจิต จากวัดพระอาสน์ได้เคยขุดตัดบริเวณกลางสระ เพื่อให้มีนำพอเพียงสำหรับสัตว์ในหน้าแล้ง

สภาพทั่วไปบริเวณสระน้ำด้านทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถาน

การกำหนดอายุสมัย

    – กำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปกรรมของโบราณวัตถุที่พบจากการ ขุดค้น และขุดแต่ง ได้แก่ ประติมากรรมรูปบุคคล สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๙ และเศษภาชนะดินเผา ชิ้นที่เก่าที่สุดเป็นชามเคลือบสีเขียวสลักด้านนอกเป็นลายกลีบบัว สมัยราชวงศ์ซุ่งใต้ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ 

    – กำหนดอายุด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence dating: TL)  ได้ค่าอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ 

การประกาศขึ้นทะเบียน

    ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘  ตอนพิเศษ ๓๓ง. หน้า ๕ วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๔ เนื้อที่ ๘๐ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา 

ประวัติการอนุรักษ์

พ.ศ. ๒๕๒๖- หน่วยศิลปากรที่ ๘ สำรวจทำผังบริเวณ
พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๓ - สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช ได้เสนอแผนงานขุดแต่งโบราณสถานวัดตุมปัง (ร้าง) เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
พ.ศ. ๒๕๔๔ - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีหนังสือที่ ทม ๕๒๐๖ ๐๑/๒๑๙๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เรื่อง การขุดแต่งโบราณสถานตุมปัง ถึงอธิบดีกรมศิลปากร เสนอให้มีการขุดแต่งโบราณสถานวัดตุมปัง (ร้าง) ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยและพร้อมให้ความร่วมมือโดยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อร่วมมือกับกรมศิลปากรในการดำเนินโครงการ
- ผศ.ดร.มารวย เมฆานวกุล และคณะ ทำการศึกษาความหลากหลายของพรรณไม้ในเขตโบราณสถาน
พ.ศ. ๒๕๔๕ - สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี งบประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๔๖ - สำนักงานศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี งบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๔๗ - สำนักงานศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช ดำเนินการอนุรักษ์ เสริมความมั่นคง งบประมาณ ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๔๘ - สำนักงานศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช ดำเนินการอนุรักษ์เสริมความมั่นคงโบราณสถานตุมปัง รวมทั้งการอนุรักษ์เสริมความมั่นคงกำแพงแก้วและซุ้มประตูทางเข้า ตลอดจนการสร้างหลังคาคลุมโบราณสถานในลักษณะกึ่งถาวร นอกจากนี้ยังได้ทำการก่อสร้างรั้วรอบโบราณสถานตุมปัง งบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๕๑ - สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช ดำเนินการอนุรักษ์เสริมความมั่นคงแนวกำแพงแก้ว ด้านทิศเหนือ งบประมาณ ๓๖,๐๐๐ บาท
- สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีสระน้ำโบราณในโบราณสถานตุมปัง
พ.ศ. ๒๕๖๑ - สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ร่วมกับอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ดำเนินการขุดตรวจ เพื่อนำอิฐโบราณสถานตุมปังไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ งบประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท (จากงบประมาณของอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์)